สะเก็ดเงิน

สะเก็ดเงิน คืออะไร ?

เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เกิดจากการปรวนแปรของภูมิคุ้มกันของร่างกาย และไปกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง โดยมีพื้นฐานมาจากพันธุกรรมและสิ่งกระตุ้นจากภายนอก พบได้บ่อยในช่วงอายุ 20 ปี และ 40 ปีขึ้นไป โดยพบได้ประมาณร้อยละ 1 – 2 ของประชากรทุกเชื้อชาติ ทั้งเพศหญิงและเพศชายพบได้เท่ากัน

 

สาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน แต่มีหลักฐานสนับสนุนว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันร่วมกับความผิดปกติของสารพันธุกรรม ที่กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเจริญเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่ การเสียดสี การกระทบกระแทก แกะเกาบาดแผล รวมไปถึงปัจจัยทางจิตใจและสะสมความเครียด การดื่มสุรา โรคติดเชื้อ คออักเสบ สารเคมีบางชนิด

 

ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

ข้อควรปฏิบัติ

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการแห้งของหนังศีรษะหรือผิวหนัง
  • หากเป็นน้อยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ โดยเลือกที่อ่อนโยนต่อผิว ทาโลชั่นให้ผิวชุ่มชื้นเป็นประจำ
  • หากเป็นมาก ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาผื่นสะเก็ดเงิน เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  • พยายามอย่าเครียด ทำใจให้สบาย พักผ่อนและออกกำลังกายให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
  • ควบคุมไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกิน
 

ข้อควรปฏิบัติของคนรอบข้างผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

  • ทำความเข้าใจว่าโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ และเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อและไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรก สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ
  • ให้กำลังใจผู้ป่วยและคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษากับผู้ป่วยแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทำให้โรคสงบได้
  • ไม่เพิ่มความเครียดให้กับผู้ป่วยเพราะโรคนี้มีความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
 

สะเก็ดเงินและความผิดปกติของข้อ

  • กลุ่มคนอายุน้อย บางครั้งมีอาการทางข้อนำมาก่อน กลุ่มนี้มักมีความรุนแรง อาจมีพันธุกรรมเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องได้รับการดูแลข้ออย่างดี ป้องกันอาการข้อผิดรูป
  • กลุ่มคนอายุมาก เกิดจากเป็นสะเก็ดเงินมานานนับสิบปี อาจทำให้มีอาการทางข้อ เช่น ปวดข้อ หรือตึงที่มือ
 

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

  • กรณีเป็นน้อย รักษาโดยใช้ยาทาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการอักเสบ ตัวยามักมีข้อจำกัดในการใช้ จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำและการควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • กรณีมีผื่นหนาและเป็นมาก รักษาโดยใช้ยากินร่วมกับยาทา หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่ ฉายแสงอาทิตย์เทียม
  • กรณีดื้อต่อการรักษาวิธีใดอาจใช้วิธีอื่นมารักษาแทน เช่น ใช้ยาฉีดชีวภาพ